วันอังคารที่ 13 ธันวาคม พ.ศ. 2559

ปีที่ 1 ฉบับที่ 9 วันที่ 15 ธันวาคม 2559 เอกสารลำดับที่ 9/2559

สวัสดีครับท่านผู้บริหารและเพื่อนครูทุกท่าน สาร ศน. เล่าเรื่อง เข้ามาถึง ฉบับที่ 9 แล้ว วันนี้ผมจะนำเสนอเกี่ยวกับการขับเคลื่อนหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงสู่สถานศึกษา ของกระทรวงศึกษาธิการ
กระทรวงศึกษาธิการมุ่งพัฒนาสถานศึกษาในการนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ไปจัดการศึกษาอย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล ส่งผลสู่การดำเนินชีวิตตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียงของผู้เรียน ผู้บริหาร ครู และบุคลากรทางการศึกษาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งมีการดำเนินการ   อยู่ 3 รูปแบบด้วยกันคือ
1. พัฒนาสถานศึกษา ให้เป็นสถานศึกษาพอเพียง หรือ สถานศึกษาแบบอย่างการจัดกิจกรรมการเรียนรู้และการบริหารจัดการตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง
2. การคัดเลือกรางวัลสูงสุดระดับชาติสถานศึกษาพอเพียงที่มีผลการปฏิบัติที่เป็นเลิศ
3. การพัฒนาและประเมินสถานศึกษาพอเพียงเป็นศูนย์การเรียนรู้ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงด้านการศึกษา
ในการดำเนินการของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาชุมพร เขต 2 นั้น มีรายละเอียดดังนี้

jพัฒนาสถานศึกษา ให้เป็นสถานศึกษาพอเพียง หรือ สถานศึกษาแบบอย่างการจัดกิจกรรมการเรียนรู้และการบริหารจัดการตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ในปีการศึกษา 2558 นั้นมีโรงเรียนประเมินตนเองมาเพื่อขอรับการประเมินเป็นสถานศึกษาพอเพียง จำนวน 26 โรงเรียน ซึ่งทางสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาจะดำเนินการประเมินให้เสร็จสิ้นภายในปีการศึกษา 2559-2560 เพื่อให้สถานศึกษาในสังกัดเป็นสถานศึกษาพอเพียงครบทุกโรงเรียนตาม Road Map ของ สพฐ.

k การคัดเลือกรางวัลสูงสุดระดับชาติสถานศึกษาพอเพียงที่มีผลการปฏิบัติที่เป็นเลิศ ซึ่งต้องขอแสดงความยินดีกับโรงเรียนบ้านน้ำลอดน้อย อำเภอสวี จังหวัดชุมพร ที่ได้ผ่านกระบวนการและได้รับการคัดเลือกสูงสุดระดับชาติสถานศึกษาพอเพียงที่มีผลการปฏิบัติที่เป็นเลิศ ในปี2559 ได้แก่เรื่อง “เกษตรตามแนวพระราชดำริน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” ตามประกาศของศูนย์สถานศึกษาพอเพียง มูลนิธิยุวสถิรคุณ ลงวันที่ 7 ธันวาคม 2559
ซึ่งในประเด็นนี้สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาต้องการให้โรงเรียนที่เป็นสถานศึกษาพอเพียงอยู่แล้ว ได้จัดทำผลการปฏิบัติที่เป็นเลิศส่งเพื่อขอเข้ารับการคัดเลือก ในปี 2560 ต่อไป

l การพัฒนาและประเมินสถานศึกษาพอเพียงเป็นศูนย์การเรียนรู้ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงด้านการศึกษา ในส่วนนี้ตาม Road Map ของ สพฐ. ต้องการให้ทุกเขตพื้นที่การศึกษามีศูนย์การเรียนรู้ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงด้านการศึกษา อย่างน้อย เขตพื้นที่ละ 1 ศูนย์ จากการดำเนินการที่ผ่านมาของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาชุมพร เขต ๒ มีโรงเรียนส่งรายงานเพื่อขอรับการคัดเลือกเป็นศูนย์การเรียนรู้ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง จำนวน 3 โรงเรียน แต่ก็ไม่ผ่านการคัดเลือกให้มีการประเมินภาคสนาม ประเด็นสำคัญอยู่ที่การเขียนรายงานของสถานศึกษา ซึ่งจำเป็นจะต้องจัดทำรายงานเพื่อขอเข้าประเมินใหม่ในปี 2560 นี้
ผมจึงได้ประมวลข้อสังเกต และประเด็นสำคัญที่พบจากคณะกรรมการคัดกรองของกระทรวงเพื่อให้เป็นแนวทางให้กับสถานศึกษาได้จัดทำรายงาน และส่งเข้ารับการประเมินใหม่ในปี 2560 ดังนี้
1. การเขียนสรุปรายงานของสถานศึกษา
            การเขียนแรงจูงใจในการขอรับการประเมินในภาพรวม ควรให้ครอบคลุมและมองเห็นภาพความสำเร็จที่เกิดขึ้นและควรมีข้อมูลในเรื่องหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงกับการพัฒนาประเทศ  สังคม และคุณภาพของประชาชนในชาติ ความพร้อมของสถานศึกษาในทุกๆด้าน ที่สามารถช่วยเหลือ แนะนำสถานศึกษาอื่นจนสามารถพัฒนาตนเองและได้รับการประเมินเป็นสถานศึกษาพอเพียง มีความสมัครใจ เต็มใจจะดำเนินการสอดรับกับนโยบายของต้นสังกัดในเรื่องใดบ้าง
2. การเขียนรายงานถึงคุณภาพการปฏิบัติงานตามเกณฑ์การประเมิน
     2.1 ข้อมูลบุคลากร
            ผู้บริหาร  ควรเขียนแสดงให้เห็นภาพการเป็นผู้รู้ ความเข้าใจเชิงประจักษ์ และเป็นผู้ที่นำความสามารถ ความเข้าใจไปใช้ทั้งในวิถีชีวิตและหน้าที่การงาน โดยยกตัวอย่างประกอบ อีกทั้งบรรยายคุณภาพในการเป็นผู้นำแห่งการเปลี่ยนแปลงและมีความมั่นคง ยั่งยืน ความเป็นผู้นำในการเผยแพร่ขยายผลเศรษฐกิจพอเพียงด้านการศึกษาสู่หน่วยงาน สถานศึกษา สังคมภายนอก มีผลการดำเนินการเป้นอย่างไรเชื่อมั่นเชื่อถือจากภายนอกเป็นเช่นไร ให้บ่งบอกร่องรอยหลักฐานประกอบ
            ครู ควรบ่งบอกถึงจำนวนครูที่มีอยู่และปฏิบัติงานได้จริง และครูจำนวนนี้มีความรู้ ความเข้าใจในหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง มีตัวชี้วัดในเรื่องการนำไปใช้ในวิถีชีวิตที่เป็นภาพรวม การออกแบบและการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ และมีข้อมูลที่บ่งบอกถึงวีการถ่ายทอดประสบการณ์ให้ครูในสถานศึกษาด้วยกัน ทำให้เกิดผลทุกกลุ่มสาระการเรียนรู้ สามารถจัดกิจกรรมการเรียนรู้ได้จนเห็นผล
            ครูแกนนำที่สามารถถอดบทเรียนได้สำเร็จ และนำมาจัดเป็นสื่อขยายผลทั้งภายในและภายนอกสถานศึกษา โดยบรรยายให้เห็นรูปแบบ วิธีการ ชิ้นงาน การใช้ ผลที่เกิดขึ้นและการพัฒนาสื่อนั้นๆ
            การเขียนเรื่องเล่าของครู ควรบรรยายให้เห็นภาพก่อนการนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ การให้ความสำคัญ การยอมรับ ปรับใช้อย่างไร และมีอะไรเกิดขึ้น สรุปว่ามีคุณค่าต่อตนเอง ต่อสังคม ต่อการปฏิบัติหน้าที่อย่างไร และรู้อย่างไรว่าเป็นเช่นนั้น มีความยั่งยืนหรือไม่ จะเผยแพร่ แนะนำคนอื่นได้หรือไม่อย่างไร
            นักเรียน นักเรียนกลุ่มทั่วไป เป็นภาพใหญ่ของสถานศึกษาพอเพียงที่สะท้อนให้เห็นว่าได้รับการบ่มเพาะ ปลูกฝัง ให้เป็นผู้มีอุปนิสัยพอเพียง จะดูได้จากเรื่องใด โดยวิธีการใดควรบรรยายให้เห็นชัดเจน
            นักเรียนแกนนำ ต้องมีนักเรียนแกนนำในทุกๆชั้น ที่สามารถอธิบายหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงได้อย่างถูกต้อง รวมทั้งเชื่อมโยงถึงการปฏิบัติตนที่เห็นผลชัดว่านักเรียนแกนนำเกิดความศรัทธา ในการจัดกิจกรรม และมีส่วนร่วมในกิจกรรม และผลที่เกิดขึ้นเป้นอย่างไรในสถานศึกษา (มีนักเรียนพอเพียงเพิ่มขึ้น) รู้ได้อย่างไร และการมีส่วนร่วมขับเคลื่อนขยายผลต่อภายนอกสถานศึกษา นักเรียนแกนนำมีส่วนร่วมในขั้นตอนใด อย่างไร และพฤติกรรมใดบ้างที่บ่งบอกว่านักเรียนแกนนำ นำมาพัฒนาอย่างต่อเนื่อง
            คณะกรรมการสถานศึกษา การบรรยายให้เห็นว่าคณะกรรมการสถานศึกษา ได้รับรู้การขับเคลื่อนหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงของโรงเรียนโดยวิถีการใด มีร่องรอยหลักฐานเช่นไร
            การมีส่วนร่วมขับเคลื่อนหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงในสถานศึกษา มีส่วนร่วมอย่างไร อะไรเป็นเครื่องบ่งบอกถึงความศรัทธาในเรื่องนี้
            การสนับสนุนการขับเคลื่อนหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงในสถานศึกษา จนเห็นผล  พฤติกรรม การสนับสนุน เป็นอย่างไร เห็นผลในเรื่องใด มีร่องรอยหลักฐานที่เป็นรูปธรรมหรือไม่
     2.2 การจัดสภาพแวดล้อมทางกายภาพ
ในการเขียนรายงาน อาคาร สถานที่และสิ่งแวดล้อม มีใครเป็นผู้รับผิดชอบอย่างไร อะไรบ้างที่ชี้ให้เห็นถึงการปรับปรุง ดูแล รักษา และการจัดการที่เหมาะสม สภาพความเหมาะสมเป็นเช่นไร ทั้งมีแผนงานโครงการ งบประมาณดำเนินการอย่างไร
ศูนย์รวมข้อมูลการขับเคลื่อนหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงในสถานศึกษา อยู่ที่ใด และมีแผนผังแสดงแหล่งเรียนรู้ กิจกรรมในสถานศึกษาหรือไม่
นักเรียนมีส่วนร่วมในการดูแล รักษาสิ่งแวดล้อม อาคารสถานที่ ให้เอื้อต่อการเรียนรู้อย่างไร
แหล่งเรียนรู้หรือฐานการเรียนรู้ มีส่วนสร้างอุปนิสัยพอเพียงอย่างไร และมีความสอดคล้องเป็นไปตามภูมิสังคมหรือไม่ มีสื่อการเรียนรู้อย่างไรบ้างในแหล่งเรียนรู้นั้นๆ
มีวิทยากรแหล่งเรียนรู้และแผนจัดการเรียนรู้ของแหล่งเรียนรู้/ฐานการเรียนรู้อย่างถูกต้องและชัดเจนเป็นปัจจุบันหรือไม่
     2.3 ความสัมพันธ์หับหน่วยงานต้นสังกัด/หน่วยงานภายนอก
            1) ควรนำเสนอให้เห็นถึงภาพความสำเร็จที่เป็นรูปธรรมถึงประสบการณ์ในการสร้างเครือข่ายความสามารถในการรับสถานศึกษาอื่นที่มาศึกษาดูงานที่ไม่กระทบต่อการจัดกิจกรรมหลักของสถานศึกษาและความสามารถในการเป็นแกนนำเครือข่ายและเป็นพี่เลี้ยงในการพัฒนาสถานศึกษาอื่น โดยเขียนให้เห็นเป็นรูปธรรมที่เข้าใจ และมีสถานศึกษาใดที่ผ่านการประเมินเป็นสถานศึกษาพอเพียง
            2) การนำเสนอถึงรูปแบบการสร้างความร่วมมือกับหน่วยงานต้นสังกัด รวมทั้งหน่วยงานอื่นในชุมชน (ภาครัฐและภาคเอกชน) ผลที่ได้รับจากความร่วมมือ และจากการขยายผลสู่หน่วยงานภายนอกผลเป็นอย่างไร
3. ข้อเสนอแนะอื่นๆ
            สถานศึกษาควรตอบหรือเขียนตามหัวข้อที่กำหนดทุกหัวข้อ ให้เป็นไปตามบริบทของสถานศึกษาเพราะเกณฑ์การประเมินจะสัมพันธ์กัน หากตอบไม่ตรงคำถามจะไม่เชื่อมโยงกัน (ไม่เกิน 20 หน้า) มีภาคผนวกได้ จัดทำข้อมูลที่สำคัญใส่ในแผ่น CD ด้วย ความยาวไม่เกิน 15 นาที
            หวังเป็นอย่างยิ่งว่าใน ปี 2560 โรงเรียนในสังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาชุมพร เขต 2 ได้พัฒนาเป็นศูนย์การเรียนรู้หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ด้านการศึกษา

"...เศรษฐกิจพอเพียง เป็นเสมือนรากฐานของชีวิตรากฐานความมั่นคงของแผ่นดิน เปรียบเสมือนเสาเข็มที่ถูกตอกรองรับบ้านเรือนตัวอาคารไว้นั่นเอง สิ่งก่อสร้างจะมั่นคงได้ก็อยู่ที่เสาเข็มและลืมเสาเข็มเสียด้วยซ้ำไป..."

พระราชดำรัสพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9
จากวารสารชัยพัฒนา

ขอเป็นส่วนหนึ่งในการเรียนรู้
Website : Chatchawal.esdc.go.th
E-mail : Chatchawal@esdc.go.th
Blog : http://supercpn2.blogspot.com/