วันพุธที่ 15 มิถุนายน พ.ศ. 2559

ปีที่ 1 ฉบับที่ 7 วันที่ 15 มิถุนายน 2559 เอกสารลำดับที่ 7/2559


              สวัสดีครับท่านผู้บริหารและเพื่อนครูทุกท่าน สาร ศน. เล่าเรื่อง ฉบับนี้ ผมคิดอยู่นานว่าจะเอาเรื่องอะไร มาแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับผู้บริหารและเพื่อนครู คิดไปคิดมา ผมเลยตัดสินใจเลือกนโยบายที่เป็นประเด็นร้อนของกระทรวงอยู่ในขณะนี้ นั้นก็คือ ลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้ณ เวลานี้ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาชุมพร เขต 2     มีโรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการ ลดเวลาเรียนเพิ่มเวลารู้ประมาณ 60 กว่าโรงเรียน  ซึ่งภายในปีการศึกษา 2559     ทุกโรงเรียนก็จำเป็นต้องเข้าร่วมโครงการทุกโรงเรียน


ทำไมต้องลดเวลาเรียนเพิ่มเวลารู้...
          นโยบายนี้เกิดขึ้นมา เนื่องจากรัฐบาล และกระทรวงศึกษาธิการมีความเชื่อว่า ณ ปัจจุบัน นักเรียนไทย         นั้น คุณภาพการศึกษาต่ำกว่าเป้าที่ตั้งไว้ เมื่อพิจารณาจากผลการทดสอบระดับชาติ เด็กไทยใช้เวลาเรียนในปริมาณที่มาก อัดเน้นไปด้วยเนื้อหา ไม่นำพานักเรียนสร้างความรู้ จากเหตุการณ์เหล่านี้ทำให้ผู้ที่รับผิดชอบเรื่องการจัดการศึกษาของบ้านเมืองเราต้องมาพิจารณา และกำหนดนโยบายนี้ขึ้นมา ถามว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องใหม่หรือไม่ ผมฟันธงได้เลยว่าไม่ใช่เรื่องใหม่แต่อย่างใดเลย มันเป็นเรื่องที่เพื่อนครูทุกคนทำกันมานานแล้ว ถ้าจำกันเคยมีนโยบายของภาครัฐอยู่ตัวหนึ่งก็คือการปรับสัดส่วนภาคทฤษฏีกับภาคปฏิบัติ 70:30 ให้นักเรียนมีโอกาสใช้แหล่งเรียนรู้นอกห้องเรียน และปฏิบัติในสถานการณ์จริงบ้าง อีกส่วนหนึ่งเวลาที่นักเรียนก่อนกลับบ้านโรงเรียนทุกโรงเรียนในประเทศไทยจะมีเวลาให้นักเรียนได้ เล่น ทำกิจกรรมต่างๆอิสระ ตามความสนใจของนักเรียน สิ่งที่ต่างออกไประหว่างการปฏิบัติที่ผ่านมากับกิจกรรมลดเวลาเรียนเพิ่มเวลารู้นั้นก็คือระบบการจัดการ นั้นเอง
สรุปได้ว่า ลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้นั้นคือ
ลดเวลาเรียน 
          การลดเวลาเรียนภาควิชาการและลดเวลาของการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ที่ผู้เรียนเป็นผู้รับความรู้  เช่น         การบรรยาย  การสาธิตการศึกษาใบความรู้ให้น้อยลง
เพิ่มเวลารู้
การเพิ่มเวลาและโอกาสให้ผู้เรียนได้ลงมือปฏิบัติจริง มีประสบการณ์ตรง คิดวิเคราะห์ ทำงานเป็นทีม         เรียนรู้ด้วยตนเองอย่างมีความสุขจากกิจกรรมที่หลากหลาย 

จะออกแบบกิจกรรมลดเวลาเรียนเพิ่มเวลารู้อย่างไร
          โรงเรียนจะออกแบบการจัดกิจกรรมลดเวลาเรียนเพิ่มเวลารู้อย่างไรให้เกิดประสิทธิภาพ เป็นประโยชน์กับการเรียนรู้ของผู้เรียนมากที่สุด ผมขออนุญาตเสนอ ดังนี้
          1. โรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการลดเวลาเรียนเพิ่มเวลารู้ จะต้องมีการพูดคุยกับผู้เกี่ยวข้อง ผู้บริหาร ครู ผู้ปกครอง คณะกรรมการสถานศึกษา นำข้อมูลฐานของปีที่ผ่านมา เสนอในวงสนทนา (ประชุม) วิเคราะห์ว่านักเรียนของโรงเรียนเรานั้นยังขาดอะไร อยู่บ้าง เช่น การอ่านเขียน วิเคราะห์  คุณลักษณะอันพึงประสงค์ สมรรถนะตามหลักสูตร หรือเรื่องอื่นๆ ที่นักเรียนจะต้องมี จะต้องเป็น เมื่อจบหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน
          2. จากนั้นครูออกแบบกิจกรรมที่สนองตอบเรื่องต่างๆที่จะพัฒนานักเรียนของตนเอง ซึ่งกิจกรรมเป็นลักษณะกิจกรรมที่ สนองตอบความสนใจและความถนัดของผู้เรียนอย่างหลากหลาย สร้างความรู้ผ่านกระบวนการและกิจกรรม
ลงมือปฏิบัติและสร้างความรู้ ในบรรยากาศที่อบอุ่น อิสระ ปลอดภัย เปลี่ยนครูผู้สอนเป็นผู้ให้คำปรึกษาแนะนำประเมินผลอย่างหลากหลาย ตามสภาพจริง

จะประเมินพัฒนาการอย่างไร
          ผมขอนำเสนอทฤษฎีการเรียนรู้  เบนจามิน บลูมและคณะ (Bloom et al, 1956) ซึ่งได้จำแนกจุดมุ่งหมายของการเรียนรู้ ไว้ 3 ด้าน คือ
          ด้าน พุทธิพิสัย (Cognitive Domain) พฤติกรรมด้านสมองเป็นพฤติกรรมเกี่ยวกับสติปัญญา ความรู้ ความคิด ความเฉลียวฉลาด ความสามารถในการคิดเรื่องราวต่างๆ อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งเป็นความสามารถทางสติปัญญา แบ่งออกเป็น 6 ระดับ
          1. ความรู้ความจำ  ความสามารถในการเก็บรักษามวลประสบการณ์ต่าง ๆ จากการที่ได้รับรู้ไว้และระลึกสิ่งนั้นได้เมื่อต้องการเปรียบเสมือนเทปบันทึกเสียงหรือวีดิทัศน์ที่สามารถเก็บเสียงและภาพของเรื่องราวต่างๆได้  สามารถเปิดฟังหรือ ดูภาพเหล่านั้นได้  เมื่อต้องการ
2. ความเข้าใจเป็นความสามารถในการจับใจความสำคัญของสื่อ และสามารถแสดงออกมาในรูปของการแปลความ ตีความ คาดคะเน ขยายความ หรือ การกระทำอื่น ๆ
3. การนำความรู้ไปใช้ เป็นขั้นที่ผู้เรียนสามารถนำความรู้ ประสบการณ์ไปใช้ในกาแก้ปัญหาในสถานการณ์ต่าง ๆ ได้ ซึ่งจะต้องอาศัยความรู้ความเข้าใจ จึงจะสามารถนำไปใช้ได้
4. การวิเคราะห์ ผู้เรียนสามารถคิด หรือ แยกแยะเรื่องราวสิ่งต่าง ๆ ออกเป็นส่วนย่อย เป็นองค์ประกอบที่สำคัญได้ และมองเห็นความสัมพันธ์ของส่วนที่เกี่ยวข้องกัน ความสามารถในการวิเคราะห์จะแตกต่างกันไปแล้วแต่ความคิดของแต่ละคน
5. การสังเคราะห์ ความสามารถในการที่ผสมผสานส่วนย่อย ๆ เข้าเป็นเรื่องราวเดียวกันอย่างมีระบบ เพื่อให้เกิดสิ่งใหม่ที่สมบูรณ์และดีกว่าเดิม อาจเป็นการถ่ายทอดความคิดออกมาให้ผู้อื่นเข้าใจได้ง่าย การกำหนดวางแผนวิธีการดำเนินงานขึ้นใหม่ หรือ อาจจะเกิดความคิดในอันที่จะสร้างความสัมพันธ์ของสิ่งที่เป็นนามธรรมขึ้นมาในรูปแบบ หรือ แนวคิดใหม่
6. การประเมินค่า เป็นความสามารถในการตัดสิน   ตีราคา หรือ สรุปเกี่ยวกับคุณค่าของสิ่งต่าง ๆ ออกมาในรูปของคุณธรรมอย่างมีกฎเกณฑ์ที่เหมาะสม ซึ่งอาจเป็นไปตามเนื้อหาสาระในเรื่องนั้น ๆ หรืออาจเป็นกฎเกณฑ์ที่สังคมยอมรับก็ได้

จิตพิสัย (Affective Domain)(พฤติกรรมด้านจิตใจ)
ค่านิยม ความรู้สึก ความซาบซึ้ง  ทัศนคติ ความเชื่อ ความสนใจและคุณธรรม  พฤติกรรมด้านนี้อาจไม่เกิดขึ้นทันที ดังนั้น การจัดกิจกรรมการเรียนการสอนโดยจัดสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม และสอดแทรกสิ่งที่ดีงามอยู่ตลอดเวลา จะทำให้พฤติกรรมของผู้เรียนเปลี่ยนไปในแนวทางที่พึงประสงค์ได้ แบ่งออกเป็น 5 ระดับ
1.การรับรู้ ... เป็นความรู้สึกที่เกิดขึ้นต่อปรากฎการณ์ หรือสิ่งเร้าอย่างใดอย่างหนึ่ง ซึ่งเป็นไปในลักษณะของการแปลความหมายของสิ่งเร้านั้นว่าคืออะไร แล้วจะแสดงออกมาในรูปของความรู้สึกที่เกิดขึ้น
2. การตอบสนอง ...เป็นการกระทำที่แสดงออกมาในรูปของความเต็มใจ ยินยอม และพอใจต่อสิ่งเร้านั้น ซึ่งเป็นการตอบสนองที่เกิดจากการเลือกสรรแล้ว
3. การเกิดค่านิยม ... การเลือกปฏิบัติในสิ่งที่เป็นที่ยอมรับกันในสังคม การยอมรับนับถือในคุณค่านั้น ๆ หรือปฏิบัติตามในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง จนกลายเป็นความเชื่อ แล้วจึงเกิดทัศนคติที่ดีในสิ่งนั้น
4. การจัดระบบ ... การสร้างแนวคิด จัดระบบของค่านิยมที่เกิดขึ้นโดยอาศัยความสัมพันธ์ถ้าเข้ากันได้ก็จะยึดถือต่อไปแต่ถ้าขัดกันอาจไม่ยอมรับอาจจะยอมรับค่านิยมใหม่โดยยกเลิกค่านิยมเก่า
5. บุคลิกภาพ ... การนำค่านิยมที่ยึดถือมาแสดงพฤติกรรมที่เป็นนิสัยประจำตัว ให้ประพฤติปฏิบัติแต่สิ่งที่ถูกต้องดีงามพฤติกรรมด้านนี้ จะเกี่ยวกับความรู้สึกและจิตใจ ซึ่งจะเริ่มจากการได้รับรู้จากสิ่งแวดล้อม แล้วจึงเกิดปฏิกิริยาโต้ตอบ ขยายกลายเป็นความรู้สึกด้านต่าง ๆ จนกลายเป็นค่านิยม และยังพัฒนาต่อไปเป็นความคิด อุดมคติ ซึ่งจะเป็นควบคุมทิศทางพฤติกรรมของคนคนจะรู้ดีรู้ชั่วอย่างไรนั้น ก็เป็นผลของพฤติกรรมด้านนี้

ทักษะพิสัย (Psychomotor Domain) (พฤติกรรมด้านกล้ามเนื้อประสาท) พฤติกรรมที่บ่งถึงความสามารถในการปฏิบัติงานได้อย่างคล่องแคล่วชำนิชำนาญ  ซึ่งแสดงออกมาได้โดยตรงโดยมีเวลาและคุณภาพของงานเป็นตัวชี้ระดับของทักษะ ซึ่งแบ่งอกเป็น 5 ระดับ เช่นกัน
1. การรับรู้ ... เป็นการให้ผู้เรียนได้รับรู้หลักการปฏิบัติที่ถูกต้อง หรือ เป็นการเลือกหาตัวแบบที่สนใจ
2. กระทำตามแบบ หรือ เครื่องชี้แนะ ... เป็นพฤติกรรมที่ผู้เรียนพยายามฝึกตามแบบที่ตนสนใจและพยายามทำซ้ำ เพื่อที่จะให้เกิดทักษะตามแบบที่ตนสนใจให้ได้ หรือ สามารถปฏิบัติงานได้ตามข้อแนะนำ
3. การหาความถูกต้อง พฤติกรรมสามารถปฏิบัติได้ด้วยตนเอง โดยไม่ต้องอาศัยเครื่องชี้แนะ  เมื่อได้กระทำซ้ำแล้ว  ก็พยายามหาความถูกต้องในการปฏิบัติ
4. การกระทำอย่างต่อเนื่องหลังจากตัดสินใจเลือกรูปแบบที่เป็นของตัวเองจะกระทำตามรูปแบบนั้นอย่างต่อเนื่อง จนปฏิบัติงานที่ยุ่งยากซับซ้อนได้อย่างรวดเร็ว ถูกต้อง คล่องแคล่ว  การที่ผู้เรียนเกิดทักษะได้  ต้องอาศัยการฝึกฝนและกระทำอย่างสม่ำเสมอ
5. การกระทำได้อย่างเป็นธรรมชาติ พฤติกรรมที่ได้จากการฝึกอย่างต่อเนื่องจนสามารถปฏิบัติ ได้คล่องแคล่วว่องไวโดยอัตโนมัติ เป็นไปอย่างธรรมชาติซึ่งถือเป็นความสามารถของการปฏิบัติในระดับสูง
เมื่อเพื่อครูพิจารณาจากทฤษฎีการเรียนรู้  ข้างต้นแล้ว พอจะนึกออก มั๊ย ครับว่า จะออกแบบประเมินพัฒนาการของนักเรียนจากการจัดกิจกรรมลดเวลาเรียนเพิ่มเวลารู้อย่างไร ซึ่งสามมารถเลือกประเมินได้ตามความต้องการของเพื่อนครูเลย อยากจะทราบว่าในการจัดกิจกรรมแต่ละครั้ง นักเรียนมีพัฒนาการเรียนรู้ ด้านพุทธิพิสัย      จิตพิสัย ทักษะพิสัย ระดับใด เมื่อจัดกิจกรรมครั้งต่อไปนักเรียนมีพัฒนาการเรียนรู้เพิ่มขึ้นหรือไม่  
ผมขอจบสารฉบับนี้ไว้แค่นี้ก่อน ใจจริงๆแล้ว ผมอยากจะหยิบยกเรื่อง การทำ AAR มานำเสนอกับเพื่อนครูด้วย แต่ก็ด้วยจำนวนหน้ากระดาษที่จำกัด ไว้โอกาสหน้าก็แล้วกันครับ



                           ขอเป็นส่วนหนึ่งของการเรียนรู้นะครับ
gg.gg/sornorpoo/                   
 http://supercpn2.blogspot.com/

วันศุกร์ที่ 3 มิถุนายน พ.ศ. 2559

ปีที่ 1 ฉบับที่ 6 วันที่ 30 พฤษภาคม 2559 เอกสารลำดับที่ 6/2559


สวัสดีครับท่านผู้บริหารและเพื่อนครูทุกท่าน ช่วงนี้มีโรงเรียนหลายโรงเรียนในสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา ได้เข้าร่วมโรงเรียนต่างๆที่ ทาง สพฐ. และกระทรวงศึกษาธิการ กำหนด ไม่ว่าจะเป็น โรงเรียนแกนนำเศรษฐกิจพอเพียง โรงเรียนดีประจำตำบล โรงเรียนสุจริต โรงเรียนในฝัน โรงเรียนจัดการเรียนรู้อาเซียน โรงเรียนประชารัฐ โรงเรียนในโครงการลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้ และโรงเรียนประเภทอื่นอีกมากมาย โรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการต่างๆ เหล่านี้ เมื่อใกล้จะสิ้นปีงบประมาณ หรือสิ้นสุดโครงการในแต่ละปี ก็จะมีการนำเสนอ หรือให้โรงเรียนส่ง วิธีปฏิบัติที่เป็นเลิศ (Best Practice) อยู่เสมอ
          โรงเรียนก็จะมีคำถามตามมา ว่า เราจะเอาอะไรเป็น Best Practice ? เรา จะทำอย่างไรดี ? สาร ศน. เล่าเรื่อง ฉบับนี้ ผมขอแลกเปลี่ยนเกี่ยวกับเรื่องของ Best Practice

What’s Best Practice ?
          จากการศึกษาแนวคิดจากนักวิชาการ และเอกสารจากหลายๆ แหล่ง พอสรุปได้ว่า Best Practice คือ วิธีการทำงานที่ดีที่สุดในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง ซึ่งสามารถเกิดขึ้นใน    ทุกงาน และทุกหน่วยงาน มีช่องทางการเกิด หลายช่องทางทั้งเกิดจากผู้นำ ผู้ร่วมงาน ผู้เกี่ยวข้อง และผู้มีส่วนได้เสีย หรืออาจเกิดจากปัญหา และการริเริ่มสร้างสรรค์อย่างเป็นระบบและมีขั้นตอน
          ในโรงเรียนของเราอาจมี Best Practice อยู่แล้ว ทั้งด้านการบริหาร ด้านการจัดการเรียนการสอน หรือด้านอื่นๆ การที่เราจะพิจารณาว่าวิธีปฏิบัติใด เป็นวิธีปฏิบัติที่เป็นเลิศ Best Practice หรือไม่ ควรคำนึงถึงสิ่งเหล่านี้ เป็นอย่างน้อย
          1. ภาระงานที่แท้จริงมีประโยชน์สูง คุ้มทุน
          2. ใช้เป็นมาตรฐานการปฏิบัติ

          3. ผู้เกี่ยวข้องมีความพึงพอใจ
4. มีบันทึก หรือการเขียนรายงาน
          5. ดำเนินการเพื่อการพัฒนาและเผยแพร่
          6. เป็นประโยชน์ต่อภาระงาน ถ้าเป็นในโรงเรียนก็จะเป็นประโยชน์ต่อการบริหาร การจัดการเรียนการสอน

กระบวนการจัดทำ Best Practice ดังนี้
          1. การกำหนดเป้าหมายเชิงเนื้อหา
          2. การศึกษาพื้นฐานของประเด็นเนื้อหา (เอกสาร แนวคิดที่เกี่ยวข้อง)
          3. วางแผน หาแนวทางกำหนดรูปแบบของตัวแบบในการเก็บรวบรวมข้อมูล
          4. การเก็บข้อมูลตามแผน/แนวทางที่กำหนด
          5. นำข้อมูลมาวิเคราะห์เปรียบเทียบข้อมูลอดีต/ผลในปัจจุบัน
          6. แก้ไขปรับปรุง
          7. นำไปทดลองปฏิบัติซ้ำจนกว่าจะได้คำตอบหรือแนวทางที่ดีที่สุดสำหรับการแก้ปัญหาหรือดำเนินกิจกรรมนั้นๆได้จริง
          8. จัดทำระบบข้อมูลและบันทึกองค์ความรู้
          9. เผยแพร่ประชาสัมพันธ์สร้างการเรียนรู้

How to…. Best Practice ?
          ในการดำเนินการจัดทำ Best Practice ของโรงเรียนสรุปขั้นตอนการดำเนินงาน ดังนี้
          1. โรงเรียนกำหนดกรอบและแนวทางในการศึกษา กำหนดเกณฑ์ในการวิเคราะห์ผลงาน แหล่งข้อมูลที่จะจัดทำ Best Practice
          2. โรงเรียนพิจารณาผลงานที่ประสบความสำเร็จ มีเครื่องยืนยันผลงานที่ประสบความสำเร็จเป็นที่ยอมรับ น่าเชื่อถือ
3. จัดทำแผนการจัดทำ Best Practice ซึ่งประกอบด้วย วิธีเก็บข้อมูล เครื่องมือเก็บข้อมูล ระยะเวลาการประสานงาน การวิเคราะห์ข้อมูล การจัดทำเอกสาร การนำเสนอ Best Practice
          4. การจัดทำ Best Practice แบ่งการนำเสนอ     เป็น 3 ส่วนย่อย ดังนี้
          ส่วนที่ 1 ผลงานที่สำเร็จ ภาคภูมิใจ ให้โรงเรียนระบุชื่อผลงาน ซึ่งอาจะเป็นสื่อ  กระบวนการ รูปแบบ ด้วยวิธีการค้นหา Best Practice เพื่อพิจารณาดูว่า พบแล้ว ใช่แล้ว และคิดว่าเป็น Best Practice ของโรงเรียนจริงๆ สิ่งที่ช่วยให้โรงเรียนได้ค้นหาง่ายขึ้น ให้เอาเรื่องเหล่านี้ไปใช้ในการพิจารณา ได้แก่
                   1. การวิเคราะห์บริบท ความคาดหวังของโรงเรียน ชุมชน ผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง หรือผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย
                   2. พิจารณาว่าสิ่งที่ดำเนินการนั้นครบวงจร PDCA หรือไม่
                   3. ขั้นตอนนั้นเป็น “นวัตกรรม” หรือไม่
                   4. คำถามที่เกี่ยวข้องกับนวัตกรรม คือ นวัตกรรมคืออะไร  นวัตกรรมทำอย่างไร นวัตกรรมทำเพื่ออะไร
                   5. วิเคราะห์ปัจจัยที่สำเร็จและบทเรียนที่ได้เรียนรู้
          ส่วนที่ 2 ข้อมูลที่ยืนยันความสำเร็จให้โรงเรียนระบุร่องรอย เอกสาร หลักฐาน ที่ยืนยันความสำเร็จของผลงาน/นวัตกรรม (ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ขึ้นอยู่กับโรงเรียนว่าได้ทำ Best Practice เกี่ยวกับเรื่องอะไร)
          ส่วนที่ 3 วิธีการทำ ให้โรงเรียนอธิบายกระบวนการทำหรือกระบวนการผลิต โดยระบุกิจกรรมตั้งแต่เริ่มต้นจนสำเร็จ โดยมีรูปแบบการเขียนดังนี้
          1) ข้อมูลทั่วไป
          2) สรรพคุณของผลงาน ว่า ดีอย่างไร ซึ่งสามมารถเขียนได้เป็น 2 ส่วน คือ
                   - ขั้นตอนการดำเนินงาน หรือ แผนภูมิ (Flow Chat) ของระบบงานที่ทำ
                   - วิธีการและนวัตกรรมที่เป็น Best Practice หรือ อาจเขียนบอกเล่าขั้นตอนการดำเนินงานตั้งแต่ต้นจนสำเร็จเป็นผงงานที่เป็นเลิศในรูปความเรียงก็ได้
          3) ปัจจัยที่เกื้อหนุน ให้เกิดเป็น Best Practice และบทเรียนที่ได้รับ
4) ผลการดำเนินงาน ควรเน้นตัวชี้วัดที่สำคัญ ๆ (ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับวัตถุประสงค์ของการดำเนินงาน หรือ ผลที่เชื่อมโยงไปสู่นโยบายต่างๆ ) ที่แสดงให้เห็นถึงแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงการดำเนินงานจนเกิดความสำเร็จ และอาจมีภาพแผนงานในอนาคตด้วยก็ได้ ทั้งนี้อาจะอยู่ในรูปของตาราง กราฟ แผนภูมิ ขึ้นอยู่กับความเหมาะสมของข้อมูลที่จะแสดง

          จากการที่ผมได้รวบรวม และสรุปการพัฒนา Best Practice ข้างต้น หวังว่าจะเป็นประโยชน์ให้กับผู้บริหาร และเพื่อนครู ได้มีแนวทางในการพัฒนา หรือค้นความวิธีการปฏิบัติที่เป็นเลิศ ในงานที่ผู้บริหาร และเพื่อนครูปฏิบัติกันอยู่

                                                      สำหรับฉบับนี้ ผมขอจบด้วย

วาทะของท่าน มหาตมะ คานธี 

ซึ่งอาจไม่ได้เกี่ยวข้องกับการศึกษาโดยตรง แต่ก็เป็นหลักปรัชญาแห่งการเรียนรู้ และการเข้าใจธรรมชาติของมนุษย์
         
          If we want to reach real peace in this world,
we should start educating children”
                                       Mahatma Gandhi 


                           ขอเป็นส่วนหนึ่งของการเรียนรู้นะครับ