วันพุธที่ 15 มิถุนายน พ.ศ. 2559

ปีที่ 1 ฉบับที่ 7 วันที่ 15 มิถุนายน 2559 เอกสารลำดับที่ 7/2559


              สวัสดีครับท่านผู้บริหารและเพื่อนครูทุกท่าน สาร ศน. เล่าเรื่อง ฉบับนี้ ผมคิดอยู่นานว่าจะเอาเรื่องอะไร มาแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับผู้บริหารและเพื่อนครู คิดไปคิดมา ผมเลยตัดสินใจเลือกนโยบายที่เป็นประเด็นร้อนของกระทรวงอยู่ในขณะนี้ นั้นก็คือ ลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้ณ เวลานี้ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาชุมพร เขต 2     มีโรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการ ลดเวลาเรียนเพิ่มเวลารู้ประมาณ 60 กว่าโรงเรียน  ซึ่งภายในปีการศึกษา 2559     ทุกโรงเรียนก็จำเป็นต้องเข้าร่วมโครงการทุกโรงเรียน


ทำไมต้องลดเวลาเรียนเพิ่มเวลารู้...
          นโยบายนี้เกิดขึ้นมา เนื่องจากรัฐบาล และกระทรวงศึกษาธิการมีความเชื่อว่า ณ ปัจจุบัน นักเรียนไทย         นั้น คุณภาพการศึกษาต่ำกว่าเป้าที่ตั้งไว้ เมื่อพิจารณาจากผลการทดสอบระดับชาติ เด็กไทยใช้เวลาเรียนในปริมาณที่มาก อัดเน้นไปด้วยเนื้อหา ไม่นำพานักเรียนสร้างความรู้ จากเหตุการณ์เหล่านี้ทำให้ผู้ที่รับผิดชอบเรื่องการจัดการศึกษาของบ้านเมืองเราต้องมาพิจารณา และกำหนดนโยบายนี้ขึ้นมา ถามว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องใหม่หรือไม่ ผมฟันธงได้เลยว่าไม่ใช่เรื่องใหม่แต่อย่างใดเลย มันเป็นเรื่องที่เพื่อนครูทุกคนทำกันมานานแล้ว ถ้าจำกันเคยมีนโยบายของภาครัฐอยู่ตัวหนึ่งก็คือการปรับสัดส่วนภาคทฤษฏีกับภาคปฏิบัติ 70:30 ให้นักเรียนมีโอกาสใช้แหล่งเรียนรู้นอกห้องเรียน และปฏิบัติในสถานการณ์จริงบ้าง อีกส่วนหนึ่งเวลาที่นักเรียนก่อนกลับบ้านโรงเรียนทุกโรงเรียนในประเทศไทยจะมีเวลาให้นักเรียนได้ เล่น ทำกิจกรรมต่างๆอิสระ ตามความสนใจของนักเรียน สิ่งที่ต่างออกไประหว่างการปฏิบัติที่ผ่านมากับกิจกรรมลดเวลาเรียนเพิ่มเวลารู้นั้นก็คือระบบการจัดการ นั้นเอง
สรุปได้ว่า ลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้นั้นคือ
ลดเวลาเรียน 
          การลดเวลาเรียนภาควิชาการและลดเวลาของการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ที่ผู้เรียนเป็นผู้รับความรู้  เช่น         การบรรยาย  การสาธิตการศึกษาใบความรู้ให้น้อยลง
เพิ่มเวลารู้
การเพิ่มเวลาและโอกาสให้ผู้เรียนได้ลงมือปฏิบัติจริง มีประสบการณ์ตรง คิดวิเคราะห์ ทำงานเป็นทีม         เรียนรู้ด้วยตนเองอย่างมีความสุขจากกิจกรรมที่หลากหลาย 

จะออกแบบกิจกรรมลดเวลาเรียนเพิ่มเวลารู้อย่างไร
          โรงเรียนจะออกแบบการจัดกิจกรรมลดเวลาเรียนเพิ่มเวลารู้อย่างไรให้เกิดประสิทธิภาพ เป็นประโยชน์กับการเรียนรู้ของผู้เรียนมากที่สุด ผมขออนุญาตเสนอ ดังนี้
          1. โรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการลดเวลาเรียนเพิ่มเวลารู้ จะต้องมีการพูดคุยกับผู้เกี่ยวข้อง ผู้บริหาร ครู ผู้ปกครอง คณะกรรมการสถานศึกษา นำข้อมูลฐานของปีที่ผ่านมา เสนอในวงสนทนา (ประชุม) วิเคราะห์ว่านักเรียนของโรงเรียนเรานั้นยังขาดอะไร อยู่บ้าง เช่น การอ่านเขียน วิเคราะห์  คุณลักษณะอันพึงประสงค์ สมรรถนะตามหลักสูตร หรือเรื่องอื่นๆ ที่นักเรียนจะต้องมี จะต้องเป็น เมื่อจบหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน
          2. จากนั้นครูออกแบบกิจกรรมที่สนองตอบเรื่องต่างๆที่จะพัฒนานักเรียนของตนเอง ซึ่งกิจกรรมเป็นลักษณะกิจกรรมที่ สนองตอบความสนใจและความถนัดของผู้เรียนอย่างหลากหลาย สร้างความรู้ผ่านกระบวนการและกิจกรรม
ลงมือปฏิบัติและสร้างความรู้ ในบรรยากาศที่อบอุ่น อิสระ ปลอดภัย เปลี่ยนครูผู้สอนเป็นผู้ให้คำปรึกษาแนะนำประเมินผลอย่างหลากหลาย ตามสภาพจริง

จะประเมินพัฒนาการอย่างไร
          ผมขอนำเสนอทฤษฎีการเรียนรู้  เบนจามิน บลูมและคณะ (Bloom et al, 1956) ซึ่งได้จำแนกจุดมุ่งหมายของการเรียนรู้ ไว้ 3 ด้าน คือ
          ด้าน พุทธิพิสัย (Cognitive Domain) พฤติกรรมด้านสมองเป็นพฤติกรรมเกี่ยวกับสติปัญญา ความรู้ ความคิด ความเฉลียวฉลาด ความสามารถในการคิดเรื่องราวต่างๆ อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งเป็นความสามารถทางสติปัญญา แบ่งออกเป็น 6 ระดับ
          1. ความรู้ความจำ  ความสามารถในการเก็บรักษามวลประสบการณ์ต่าง ๆ จากการที่ได้รับรู้ไว้และระลึกสิ่งนั้นได้เมื่อต้องการเปรียบเสมือนเทปบันทึกเสียงหรือวีดิทัศน์ที่สามารถเก็บเสียงและภาพของเรื่องราวต่างๆได้  สามารถเปิดฟังหรือ ดูภาพเหล่านั้นได้  เมื่อต้องการ
2. ความเข้าใจเป็นความสามารถในการจับใจความสำคัญของสื่อ และสามารถแสดงออกมาในรูปของการแปลความ ตีความ คาดคะเน ขยายความ หรือ การกระทำอื่น ๆ
3. การนำความรู้ไปใช้ เป็นขั้นที่ผู้เรียนสามารถนำความรู้ ประสบการณ์ไปใช้ในกาแก้ปัญหาในสถานการณ์ต่าง ๆ ได้ ซึ่งจะต้องอาศัยความรู้ความเข้าใจ จึงจะสามารถนำไปใช้ได้
4. การวิเคราะห์ ผู้เรียนสามารถคิด หรือ แยกแยะเรื่องราวสิ่งต่าง ๆ ออกเป็นส่วนย่อย เป็นองค์ประกอบที่สำคัญได้ และมองเห็นความสัมพันธ์ของส่วนที่เกี่ยวข้องกัน ความสามารถในการวิเคราะห์จะแตกต่างกันไปแล้วแต่ความคิดของแต่ละคน
5. การสังเคราะห์ ความสามารถในการที่ผสมผสานส่วนย่อย ๆ เข้าเป็นเรื่องราวเดียวกันอย่างมีระบบ เพื่อให้เกิดสิ่งใหม่ที่สมบูรณ์และดีกว่าเดิม อาจเป็นการถ่ายทอดความคิดออกมาให้ผู้อื่นเข้าใจได้ง่าย การกำหนดวางแผนวิธีการดำเนินงานขึ้นใหม่ หรือ อาจจะเกิดความคิดในอันที่จะสร้างความสัมพันธ์ของสิ่งที่เป็นนามธรรมขึ้นมาในรูปแบบ หรือ แนวคิดใหม่
6. การประเมินค่า เป็นความสามารถในการตัดสิน   ตีราคา หรือ สรุปเกี่ยวกับคุณค่าของสิ่งต่าง ๆ ออกมาในรูปของคุณธรรมอย่างมีกฎเกณฑ์ที่เหมาะสม ซึ่งอาจเป็นไปตามเนื้อหาสาระในเรื่องนั้น ๆ หรืออาจเป็นกฎเกณฑ์ที่สังคมยอมรับก็ได้

จิตพิสัย (Affective Domain)(พฤติกรรมด้านจิตใจ)
ค่านิยม ความรู้สึก ความซาบซึ้ง  ทัศนคติ ความเชื่อ ความสนใจและคุณธรรม  พฤติกรรมด้านนี้อาจไม่เกิดขึ้นทันที ดังนั้น การจัดกิจกรรมการเรียนการสอนโดยจัดสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม และสอดแทรกสิ่งที่ดีงามอยู่ตลอดเวลา จะทำให้พฤติกรรมของผู้เรียนเปลี่ยนไปในแนวทางที่พึงประสงค์ได้ แบ่งออกเป็น 5 ระดับ
1.การรับรู้ ... เป็นความรู้สึกที่เกิดขึ้นต่อปรากฎการณ์ หรือสิ่งเร้าอย่างใดอย่างหนึ่ง ซึ่งเป็นไปในลักษณะของการแปลความหมายของสิ่งเร้านั้นว่าคืออะไร แล้วจะแสดงออกมาในรูปของความรู้สึกที่เกิดขึ้น
2. การตอบสนอง ...เป็นการกระทำที่แสดงออกมาในรูปของความเต็มใจ ยินยอม และพอใจต่อสิ่งเร้านั้น ซึ่งเป็นการตอบสนองที่เกิดจากการเลือกสรรแล้ว
3. การเกิดค่านิยม ... การเลือกปฏิบัติในสิ่งที่เป็นที่ยอมรับกันในสังคม การยอมรับนับถือในคุณค่านั้น ๆ หรือปฏิบัติตามในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง จนกลายเป็นความเชื่อ แล้วจึงเกิดทัศนคติที่ดีในสิ่งนั้น
4. การจัดระบบ ... การสร้างแนวคิด จัดระบบของค่านิยมที่เกิดขึ้นโดยอาศัยความสัมพันธ์ถ้าเข้ากันได้ก็จะยึดถือต่อไปแต่ถ้าขัดกันอาจไม่ยอมรับอาจจะยอมรับค่านิยมใหม่โดยยกเลิกค่านิยมเก่า
5. บุคลิกภาพ ... การนำค่านิยมที่ยึดถือมาแสดงพฤติกรรมที่เป็นนิสัยประจำตัว ให้ประพฤติปฏิบัติแต่สิ่งที่ถูกต้องดีงามพฤติกรรมด้านนี้ จะเกี่ยวกับความรู้สึกและจิตใจ ซึ่งจะเริ่มจากการได้รับรู้จากสิ่งแวดล้อม แล้วจึงเกิดปฏิกิริยาโต้ตอบ ขยายกลายเป็นความรู้สึกด้านต่าง ๆ จนกลายเป็นค่านิยม และยังพัฒนาต่อไปเป็นความคิด อุดมคติ ซึ่งจะเป็นควบคุมทิศทางพฤติกรรมของคนคนจะรู้ดีรู้ชั่วอย่างไรนั้น ก็เป็นผลของพฤติกรรมด้านนี้

ทักษะพิสัย (Psychomotor Domain) (พฤติกรรมด้านกล้ามเนื้อประสาท) พฤติกรรมที่บ่งถึงความสามารถในการปฏิบัติงานได้อย่างคล่องแคล่วชำนิชำนาญ  ซึ่งแสดงออกมาได้โดยตรงโดยมีเวลาและคุณภาพของงานเป็นตัวชี้ระดับของทักษะ ซึ่งแบ่งอกเป็น 5 ระดับ เช่นกัน
1. การรับรู้ ... เป็นการให้ผู้เรียนได้รับรู้หลักการปฏิบัติที่ถูกต้อง หรือ เป็นการเลือกหาตัวแบบที่สนใจ
2. กระทำตามแบบ หรือ เครื่องชี้แนะ ... เป็นพฤติกรรมที่ผู้เรียนพยายามฝึกตามแบบที่ตนสนใจและพยายามทำซ้ำ เพื่อที่จะให้เกิดทักษะตามแบบที่ตนสนใจให้ได้ หรือ สามารถปฏิบัติงานได้ตามข้อแนะนำ
3. การหาความถูกต้อง พฤติกรรมสามารถปฏิบัติได้ด้วยตนเอง โดยไม่ต้องอาศัยเครื่องชี้แนะ  เมื่อได้กระทำซ้ำแล้ว  ก็พยายามหาความถูกต้องในการปฏิบัติ
4. การกระทำอย่างต่อเนื่องหลังจากตัดสินใจเลือกรูปแบบที่เป็นของตัวเองจะกระทำตามรูปแบบนั้นอย่างต่อเนื่อง จนปฏิบัติงานที่ยุ่งยากซับซ้อนได้อย่างรวดเร็ว ถูกต้อง คล่องแคล่ว  การที่ผู้เรียนเกิดทักษะได้  ต้องอาศัยการฝึกฝนและกระทำอย่างสม่ำเสมอ
5. การกระทำได้อย่างเป็นธรรมชาติ พฤติกรรมที่ได้จากการฝึกอย่างต่อเนื่องจนสามารถปฏิบัติ ได้คล่องแคล่วว่องไวโดยอัตโนมัติ เป็นไปอย่างธรรมชาติซึ่งถือเป็นความสามารถของการปฏิบัติในระดับสูง
เมื่อเพื่อครูพิจารณาจากทฤษฎีการเรียนรู้  ข้างต้นแล้ว พอจะนึกออก มั๊ย ครับว่า จะออกแบบประเมินพัฒนาการของนักเรียนจากการจัดกิจกรรมลดเวลาเรียนเพิ่มเวลารู้อย่างไร ซึ่งสามมารถเลือกประเมินได้ตามความต้องการของเพื่อนครูเลย อยากจะทราบว่าในการจัดกิจกรรมแต่ละครั้ง นักเรียนมีพัฒนาการเรียนรู้ ด้านพุทธิพิสัย      จิตพิสัย ทักษะพิสัย ระดับใด เมื่อจัดกิจกรรมครั้งต่อไปนักเรียนมีพัฒนาการเรียนรู้เพิ่มขึ้นหรือไม่  
ผมขอจบสารฉบับนี้ไว้แค่นี้ก่อน ใจจริงๆแล้ว ผมอยากจะหยิบยกเรื่อง การทำ AAR มานำเสนอกับเพื่อนครูด้วย แต่ก็ด้วยจำนวนหน้ากระดาษที่จำกัด ไว้โอกาสหน้าก็แล้วกันครับ



                           ขอเป็นส่วนหนึ่งของการเรียนรู้นะครับ
gg.gg/sornorpoo/                   
 http://supercpn2.blogspot.com/

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น