วันอาทิตย์ที่ 17 เมษายน พ.ศ. 2559

ปีที่ 1 ฉบับที่ ๓ วันที่ ๑๕ เมษายน 2559 เอกสารลำดับที่ ๓/2559



                สวัสดีครับท่านผู้บริหารและเพื่อนครูทุกท่าน จะเห็นได้ว่าเมื่อเดือนที่ผ่านมาผมไม่ได้เขียนสาร ศน.เล่าเรื่อง ด้วยเหตุที่ว่ามีภาระงานที่ทำอยู่นั้นมากมาย ทำให้คาใจผมอยู่ตลอดเนื่องจากผมมีแผนว่าจะเขียนสาร ศน.เล่าเรื่อง  อย่างน้อยเดือนละ 2 ครั้ง จริงๆก็ไม่โทษงานหรอกครับโทษตัวเองมากกว่าที่บริหารเวลาไม่ได้เอง

          มาคุยเรื่องสารฉบับนี้กันดีกว่าครับ เนื่องจากทางสถาบันสังคมศึกษา ของ สพฐ. ได้มีหนังสือราชการให้ ศึกษานิเทศก์ที่รับผิดชอบในเรื่องของการจัดการเรียนรู้ประวัติศาสตร์ ให้เข้าประชุมปฏิบัติการวางแผนและขับเคลื่อนคุณภาพการจัดการเรียนรู้ประวัติศาสตร์ ระหว่างวันที่ 5-8 กุมภาพันธ์ 2559 ที่ผ่านมา ณ โรงแรมรอยัล รัตนโกสินทร์ เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร ซึ่งผมเชื่อว่าผู้บริหารและเพื่อนครูทุกคนคงจะรู้จักโรงแรมนี้กันเป็นอย่างดี เนื่องจากเป็นโรงแรมเก่าแก่ ถูกสร้างขึ้นเพื่อเป็นโรงแรมระดับห้าดาว ในสมัยท่านจอมพล ป พิบูลย์สงคราม เมื่อปี พ.ศ. 2486 รายละเอียดเกี่ยวกับเรื่องโรงแรมสามารถศึกษาได้จากหนังสือชื่อว่า “คณะราษฎร์ฉลองรัฐธรรมนูญ : ประวัติศาสตร์การเมืองหลัง 2475 ผ่านสถาปัตยกรรม อำนาจ” หัวใจหลักของการเขียนสารครั้งนี้ผม ต้องการกระเทาะประสบการณ์ที่ได้จากการประชุมครั้งนี้ มานำเสนอและแลกเปลี่ยนกับผู้บริหารและเพื่อนครู  แต่ทักทายยาวไปหน่อยคงไม่ว่ากัน      นะครับ
          เส้นทางการเรียนรู้ประวัติศาสตร์
          1. การพัฒนาการเรียนการสอนประวัติศาสตร์ : การท่องจำประวัติศาสตร์บางครั้งก็ไม่ทำให้ลุกหลานของพวกเรารู้สึกตระหนัก รักในรากเหง้าของตัวเอง เพื่อนครูต้องหาวิธีการว่าทำอย่างไรให้ลูกหลานเรารู้จักวิเคราะห์ ใคร ทำอะไร ที่ไหนในอดีต และมีผลต่อปัจจุบันอย่างไร

          2. เพื่อนครูต้องจัดกิจกรรมการเรียนรู้ที่ลักษณะที่มีความหลากหลาย  ใช้กิจกรรมเป็นฐาน (Activity Base) ในการจัดการเรียนรู้เพื่อนำพานักเรียน ลูกหลานของพวกเราไปสู่คุณลักษณะที่ต้องการ
          3. เน้นประวัติศาสตร์ช่วงสำคัญของประเทศผสานและเชื่อมโยงกับประวัติศาสตร์ในท้องถิ่น
          ประวัติศาสตร์ คืออะไร?
          จากการเข้าประชุมในครั้งนี้ พอจะสรุปได้ตามความเข้าใจของผมได้ว่า ประวัติศาสตร์ ในมิติของการเรียนรู้ นั้นคือ ศาสตร์ของการสืบค้นเรื่องราวที่เชื่อว่าเกิดขึ้นโดยการตรวจสอบร่องรอยหลักฐานที่หลงเหลืออยู่โดยวิธีการ รวบรวม แยกแยะ วิเคราะห์ วิพากษ์ เพื่อค้นหาข้อเท็จจริง พร้องทั้งอธิบายเรื่องราวที่เกิดขึ้นเพื่อรู้รากเหง้า เข้าใจปัจจุบัน และมองคาดการณ์สิ่งที่จะเกิดในอนาคตได้
          ชวนเพื่อนครูพูดคุย ว่าวันนี้พวกเราจัดกิจกรรมการเรียนการสอน ภายในหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน 2551 ซึ่งมีจุดมุ่งหมาย มีสมรรถนะสำคัญของผู้เรียน คุณลักษณะอันพึงประสงค์ มาตรฐานการเรียนรู้ ตัวชี้วัด สาระการเรียนรู้ รวมถึงนโยบายต่างๆของกระทรวงศึกษาธิการ เช่น ลดเวลาเรียนเพิ่มเวลารู้ ครูสอนให้เด็กนักเรียนได้ปฏิบัติ และมีประบวนการคิด ครูเป็นผู้แนะนำ เป็นพี่เลี้ยง ท่ามกลางโลกในศตวรรษที่ 21 แล้วเพื่อนครูจะสอนอะไร สอนทำไม สอนอย่างไร สอนได้ผลหรือไม่ ปัญหาอยู่ที่ไหนและแก้ไขด้วยวิธีการใด .
          มุ่งประเด็นไปถึงมาตรฐานการเรียนรู้/ตัวชี้วัด พอจะวิเคราะห์ได้ว่า มีทั้งหมด 3 ตัว ตามหลักสูตร คือ
          ส 4.1 กล่าวถึงประวัติศาสตร์และวิธีการศึกษา เกี่ยวโยงในเรื่องของเวลา ช่วงสมัย และวิธีการทางประวัติศาสตร์ (เนื้อหาตามระดับชั้นปี)
          ส 4.2 กล่าวถึงพัฒนาการและการเปลี่ยนแปลงในพื้นที่ต่างๆ รวมถึงวัฒนธรรมและภูมิปัญญา(เนื้อหาตามระดับชั้นปี)
          ส 4.3 กล่าวถึงประวัติศาสตร์ชาติไทย บุคคลสำคัญ วัฒนธรรมและภูมิปัญญาไทย (เนื้อหาตามระดับชั้นปี)
          เพื่อนครูพอจะมองออก นะ ครับว่า หลักๆของประวัติศาสตร์ที่พวกเราจะต้องจัดให้กับนักเรียนเรามีขอบข่ายอย่างไร แล้วทำไม? ทำไม? ต้องสอนเรื่องเหล่านี้ให้ลูกหลานเรา ล่ะ ครับ ผมของยกตัวอย่างสัก สองสามเรื่อง เพื่อที่จะให้เพื่อครูและผู้บริหารได้เห็นภาพ นะครับ
          1. การเปลี่ยนแปลงและพัฒนาการ ถ้านักเรียนและลูกหลานเราเข้าใจว่า(ใคร ทำไม อย่างไร) ทำอะไร ที่ไหน เมื่อไหร่ ซึ่งเกี่ยวข้องกับความเป็นพลวัต ครอบครัว ชุมชน ท้องถิ่น ประเทศ ภูมิภาคของโลก เหตุการณ์สำคัญของโลก
          นักเรียน หรือลูกหลานของพวกเราก็จะได้ทราบว่าใครทำอะไร ที่ไหน เมื่อไหร่ ทำไมจึงเกิดเหตุการณ์นั้นขึ้น ผลของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นที่มีต่อสังคมเป็นอย่างไร
          “ในสมัยรัชกาลที่ 1 ถ้าไม่ย้ายเมืองหลวงจากกรุงธนบุรีข้ามมากรุงเทพฯ  ณ วันนี้ภาพของเมืองหลวงไทยจะเป็นอย่างไร.....”

          2. วัฒนธรรม/อารยธรรม/ภูมิปัญญาของมนุษยชาติ ถ้านักเรียนและลูกหลานของพวกเราเข้าใจ ตระหนัก ให้ความสำคัญ ความเป็นพลวัตปัจจัยที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงความสำคัญต่อมนุษยชาติ

          นักเรียน หรือลูกหลานของพวกเราก็จะได้ทราบถึงความเจริญของสังคมมนุษย์ ณ ช่วงเวลาและแหล่งที่ความก้าวหน้าทางวิทยาการ ศิลปกรรม ประเพณี ศิลปวัฒนธรรม การละเล่น

          3. ประวัติสาสตร์ชาติไทย/บุคคลสำคัญ/วัฒนธรรมไทย/ภูมิปัญญาไทย  นักเรียน หรือลูกหลานของพวกเราได้รู้ เข้าใจ รัก ในภูมิปัญญาความเป็นไทย สืบสานความเป็นไทย เชื่อมโยงถึงความเป็นพลวัต ปัจจัยที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ความสำคัญของมนุษย์ชาติ นำไปสู่ในเรื่องของสัญลักษณ์ชาติไทย พัฒนาการของการเมืองการปกครอง/เศรษฐกิจ/สังคม และวัฒนธรรม เหตุการณ์สำคัญต่างๆ

          “การท่องจำอย่างเดียว ไม่ทำให้นักเรียนหรือลูกหลานของพวกเรา เข้าใจ ตระหนัก เห็นคุณค่า ต่อประวัติศาสตร์ได้เลย คุณลักษณะต่างๆที่ต้องการให้เกิดตามหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐานก็ไม่เกิดขึ้นมาได้”

          แล้วพวกเราจะทำอย่างไร
          ผมขอนำเสนอกระบวนการเรียนรู้ประวัติศาสตร์ เพื่อพอจะเป็นแนวทางให้กับเพื่อครู ซึ่งผมเชื่อว่าเพื่อครูบางท่านก็ปฏิบัติอยู่แล้ว....
          1. การเล่าเรื่อง
                   1.1 ครูอธิบายโดยใช้สื่อประกอบ
                   1.2 ศึกษาจากเอกสาร (หนังสือเรียน, ใบความรู้)
                   1.3 ศึกษาวีดิทัศน์,ภาพยนตร์
                   1.4 ศึกษาจากหลักฐานทางประวัติศาสตร์ (เอกสารชั้นต้น)
          2. การใช้แหล่งเรียนรู้
          3. การสืบค้นด้วยตนเอง
          4. การใช้ประเด็นหรือคำถามเพื่อการเรียนรู้
          5. การใช้เส้นทางเวลา (Time Line)
          6. กิจกรรมส่งเสริมการเรียนรู้ประวัติศาสตร์

          “ถ้าไม่มีวันนั้น ก็คงไม่มีวันนี้ เอาเรื่องของวันนั้นและวันนี้ มาเป็นฐานในการมองหรือวางอนาคต”

                           ขอเป็นส่วนหนึ่งของการเรียนรู้นะครับ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น