วันเสาร์ที่ 14 พฤษภาคม พ.ศ. 2559

ปีที่ 1 ฉบับที่ 5 วันที่ 15 พฤษภาคม 2559 เอกสารลำดับที่ 5/2559



สวัสดีครับท่านผู้บริหารและเพื่อนครูทุกท่าน      จากสาร ศน.เล่าเรื่อง ฉบับที่ผ่านมาผมได้ติดค้างในเรื่องของการวัดและประเมินผลในชั้นเรียน ซึ่งสอดคล้องกับประเด็นของ  นายกพบเพื่อนครู เมื่อวันที่ 13 พฤษภาคม ที่ผ่านมา ที่ท่านได้กล่าวถึงประเด็นการวัดผลที่พอจะจับใจความได้ว่า การประเมินไม่ได้ประเมินเพื่อตัดสินผลการเรียนแต่เป็นการประเมินในทุกด้านของผู้เรียน วันนี้ผมเลยนำเรื่องการวัดผลมาพูดคุยแลกเปลี่ยนกับเพื่อนครูในสาร ศน. เล่าเรื่อง ฉบับนี้เลย ซึ่งความหมายเรื่องการวัดและประเมินผลได้กล่าวไปบ้างแล้วในฉบับที่แล้ว แต่ก็ขอนำมากล่าวอีกครั้งในฉบับนี้
การวัดและประเมินผล
          เป็นกระบวนการหนึ่งในการจัดกิจกรรมการเรียนการสอน การวัดเป็นการตรวจสอบเพื่อให้ได้ข้อมูลของผู้เรียนในรูปแบบของคะแนนหรือการพรรณาสิ่งที่เกี่ยวข้องกับผลการเรียนของผู้เรียนที่แสดงออกมาในช่วงก่อน ระหว่าง และหลังการจัดการเรียนการสอน การประเมิน เป็นการนำข้อมูลที่ได้จากการวัดมาพิจารณาตัดสินว่าผู้เรียนมีความสามารถหรือคุณลักษณะตามเป้าหมาย หรือวัตถุประสงค์จากการจัดการเรียนการสอนมากน้อยเพียงใด รวมทั้งพิจารณาว่ามีสิ่งใดบ้างที่ต้องปรับปรุงหรือพัฒนาให้ดีขึ้น  หลักของการประเมินผลเพื่อให้ได้มาซึ่งศักยภาพของผู้เรียนเป็นหลักของการประเมินผลที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ
          การวัดและประเมินผลการเรียน มีขั้นตอนสำคัญ คือ
          ขั้นที่ 1 กำหนดสิ่งที่ต้องการจะนำมาวัดหรือประเมิน ซึ่งโดยทั่วไปผมคิดว่าเพื่อนครูคงจะทราบดี คือ ความรู้ หรือ เนื้อหา ความสามารถหรือทักษะ และคุณลักษณะ
          ขั้นที่ 2 กำหนดเครื่องมือที่ใช้ในการประเมินผล เช่น แบบทดสอบ แบบสอบถาม แบบสังเกต
ขั้นที่ 3 ออกแบบสถานการณ์ในการประเมิน เช่น ข่าว เหตุการณ์จำลอง เป็นต้น
          ขั้นที่ 4 กำหนดวิธีการให้คะแนนหรือเกณฑ์การประเมิน เช่น การให้คะแนนแบบระดับคุณภาพ (Rubric Scores) การให้คะแนนแบบผลรวม
          ขั้นที่ 5 กำหนดเงื่อนไขในการวัดและประเมินผล เช่น เครื่องมือและอุปกรณ์ เวลาในการทำแบบทดสอบ ผู้มีส่วนร่วมในการประเมิน เป็นต้น
          ตามที่ผลกล่าวถึงขั้นตอนการวัดผลประเมินผลข้างต้น    ผมเชื่อได้เลยว่าเพื่อนครูที่อ่านสารฉบับนี้อยู่ กำลังพิจารณาตัวเองว่า เราได้ทำตามขั้นตอนครบหรือไม่ ยังขาดขั้นตอนไหนไปบ้าง จริงมั๊ยครับ
          ผมขอพาเพื่อนครูมารู้จักคำศัพท์เกี่ยวกับการประเมินผลที่เกี่ยวข้องกับการปฎิบัติการวัดผลประเมินผลการเรียนการสอนของเพื่อนครู มีดังนี้
          Assessment as Learning คือ การใช้การประเมินเป็นเครื่องมือในการเรียนรู้ของผู้เรียนมุ่งเน้นการให้ข้อมูลย้อนกลับแก่ผู้เรียน ด้วยวิธีการต่างๆ เช่น การเขียนสะท้อนผลการประเมินลงชิ้นงานด้วยถ้อยคำที่สร้างสรรค์ การเสนอแนวทางในการปรับปรุงพัฒนาแก่ผู้เกี่ยวข้อง เพื่อได้นำข้อมูลย้อนกลับไปปรับปรุงและพัฒนาความสามารถของผู้เรียนให้บรรลุตามเป้าหมายของหลักสูตร
          เช่น ครูให้นักเรียนทำแบบฝึกหัด เรื่อง การเรียบเรียงคำให้เป็นประโยค เมื่อครูตรวจให้คะแนน พร้อมทั้งให้ข้อมูลย้อนกลับอย่างสร้างสรรค์ เพื่อให้นักเรียนได้ไปปรับปรุงพัฒนาตนเอง ถ้าเพื่อนครูทำแบบนี้หมายความว่าเพื่อครูกำลังใช้การประเมินผลเป็นเครื่องมือในการเรียนรู้
          Assessment for Learning คือ การประเมินเพื่อการเรียนรู้ เป็นการประเมินระหว่างเรียน มีการให้ข้อมูลย้อนกลับแก่ผู้เรียน แต่ในการประเมินเพื่อเรียนรู้จะต้องนำคะแนนของนักเรียนมาทำเป็นข้อมูลสารสนเทศที่แสดงถึงพัฒนาการของนักเรียน แปลว่าการประเมินเพื่อการเรียนรู้ไม่ได้ทำเพียงครั้งเดียวในหนึ่งเรื่อง เช่น ครูให้เด็กชาย       ชนาวิทย์ เขียนเรื่องเชิงสร้างสรรค์
          ประเมินครั้งที่ 1 เด็กชายชนาวิทย์ ได9 คะแนน และครูให้ข้อเสนอแนะไปว่า “ควรปรับปรุงในเรื่องของการของคำเชื่อมประโยคให้มีความเหมาสม
          ประเมินครั้งที่ 2 เด็กชายชนาวิทย์ ได้ 10 คะแนน และครูแนะนำไปว่า “การใช้คำเชื่อมดีขึ้น แต่ควรคำนึงถึงความสะอาด
          ประเมินครั้งที่ 3 เด็กชายชนาวิทย์ ได้ 10 คะแนน และครูสะท้อนกลับว่า มีพัฒนาการเขียนสมบูรณ์ มีความคิดสร้างสรรค์
          จากเหตุการณ์ข้างต้น แปลว่า เด็กชายชนาวิทย์     ได้นำผลการสะท้อนของครูมาใช้ในการปรับปรุงตนเอง จนสามารถเขียนเรื่องเชิงสร้างสรรค์ บรรลุตามวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้ ถ้าเพื่อนครูทำลักษณะนี้ เพื่อครูกำลังปฏิบัติการประเมินเพื่อการเรียนรู้
          Assessment of Learning เป็นการประเมินเพื่อตัดสินผลการเรียนรู้ ซึ่งผมเชื่อว่าเพื่อนครูทุกคนได้มีการประเมินลักษณะนี้ ในกลุ่มสาระการเรียนรู้ คุณลักษณะอันพึงประสงค์ และกิจกรรมพัฒนาผู้เรียน คือการนำคะแนนจากผลการประเมินย่อยระหว่างเรียน และผลการทดสอบปลายภาคเรียนมารวมกัน เพื่อตัดสินระดับผลการเรียน ตัดสินระดับคุณภาพ ตัดสินผ่าน ไม่ผ่าน
          ผมไม่ห่วงเรื่องการปฎิบัติการประเมินเพื่อตัดสินผลการเรียน แต่ผมต้องการให้การประเมิน 2 ลักษณะที่จะกล่าวต่อไปนี้เกิดขึ้นในโรงเรียนสังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาชุมพร เขต 2 ให้มีปริมาณมากกว่าที่เป็นอยู่
          Authentic Assessment เป็นการประเมินผลการเรียนรู้ตามสภาพจริง ซึ่งเป็นการประเมินความรู้และทักษะของผู้เรียนจากผลงานหรือการปฎิบัติกิจกรรมที่สอดคล้องกับสภาพความเป็นจริง โดยใช้การกำหนดเกณฑ์การให้คะแนนเป็นระดับคุณภาพ (Rubric Scores)
ตัวอย่าง เช่น
          เป้าหมาย :นักเรียนสามารถสื่อสารภาษาอังกฤษใน สถานการณ์ต่างๆได้ โดยการแสดงบทบาทสมมุติ
          เครื่องมือ : แบบประเมินความสามารถด้านการสื่อสาร
          วิธีการ : ประเมินความสามารถจากการแสดงบทบาทสมมุติ
          เกณฑ์การใหคะแนน : ให้คะแนนเป็นระดับคุณภาพ (Rubric Scores)
ตัวอย่าง เกณฑ์การประเมิน
รายการประเมิน (กำหนดให้ครบถ้วนตามสิ่งที่ต้องการวัด)
          การใช้คำศัพท์
เกณฑ์การให้คะแนน
          4 ดีมาก ถูกต้องสมบูรณ์ทุกคำ
          3 ดี ถูกต้องบางส่วน ผิดไม่เกิน 5 คำ
          2 พอใช้ ถูกต้องบางส่วน ผิดไม่เกิน 10 คำ
          1 ปรับปรุง พูดผิดมากกว่า 10 คน
Performance standards Assessment เป็นการประเมินผลจากการแสดงออกของผู้เรียนด้านการพูด การแสดงท่าทางประกอบ บทบาทสมมุติ ซึ่งทำให้ผู้ประเมินสามารถใช้การสังเกตเพื่อตรวจสอบสิ่งที่ผู้เรียนแสดงออกมาตรงตามที่กำหนดไว้ในเป้าหมายของการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนหรือไม่
          เพื่อนครูคงมีคำถามว่าแล้วมันต่างอะไรกับการประเมินแบบ Authentic Assessment อธิบายเพื่อความเข้าใจตรงกันดังนี้
          Authentic Assessment มุ่งเน้นการประเมินผลทั้งด้านความรู้ ทักษะ และเจตคติ
          Performance standards Assessment มุ่งเน้นประเมินผลด้านความสามารถ ทักษะ และคุณลักษณะ

          ฉบับนี้เอาไว้แค่นี้ก่อนนะครับ ถ้ามีข้อสงสัย ให้เข้าไปสอบถามใน http://gg.gg/40ztm ซึ่งผมจัดทำขึ้นมาเพื่อให้แลกเปลี่ยนเรียนรู้กับเพื่อนครู

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น